ท่ามกลางเครื่องเล่น DVD Player จากจีนแดง เครื่องละ ไม่ถึงพันซึ่งมีกันเกลื่อนกลาด ถ้าไม่เน้นคุณภาพ และไม่ซีเรียสอะไรมากมายก็ลองซื้อหามาใช้งานกันครับ ส่วนผมเห็นทีไม่เอาด้วยละกันไหน ๆ จะจ่ายเงินกันทั้งทีก็ใช้ที่ไอ้ที่พอมั้นใจมีชื่อ มีแบรนด์ที่คุ้นหูหน่อยก็จะเป็นการดี อย่างเช่น Pioneer Sony Panasonic Phillip อะไรจำพวกนี้ และยังมีแบรนด์รอง ๆ ลงมาหน่อย ก็อย่าง Soken Samsung Lg ก็คงคิดว่าพอถูไถ
เอาล่ะวันนี้จะมาว่ากันด้วยเครื่องเล่น CD Player ว่าด้วยเราเหล่านัก DIY อยากจะมีเครื่องเล่น CD Player ที่ว่านี้ถ้าจะไปซื้อสำเร็จรูปมาเล่นมาฟังก็จนด้วยเงินตรา แรงด้วยราคาออกขนาดนั้น โทษครับเครื่องเล่น CD Player เพียว ๆ เดี๋ยวนี้ว่ากันหลักหมื่นนะขอรับท่าน มันแพง แพงเพราะอะไรเราก็พอจะเข้าใจอยู่ หลัก ๆ ก็การตลาดล่ะครับ ดีมานด์ ซัพพลาย คนไม่ค่อยเล่นกันจะผลิตกันออกมาเกลื่อนกลาด เหมือนเครื่องเล่น DVD จากจีนเห้นจะพิกลอยู่ ไอ้ครั้นจะเอาเครื่อง DVD Player มาเปิดเล่นเพลงก็ยังไม่ดั่งใจกันซักเท่าไหร่ ด้วยว่าน้ำเสียง ดิจิตอลจ๋า ออกอย่างนั้น
จะฟังให้ได้น้ำเสียง เนียน ๆ นุ่ม ๆ ใส ๆ มีเนื้อ มีหนัง อิ่มเอิบ เห็นทีจะเหนื่อยยากกับเครื่องเล่น DVD Player เอาล่ะครับทุกอย่างย่อมมีทางออก ( แบบประหยัด ) ตามผมมาผมจะมาแนะนำเครื่อง CD Rom รุ่นเก่า ๆ ที่หน้าปัทม์เป็นแบบ 2 ปุ่ม ประมาณว่าจ่ายไฟเข้าไปเลี้ยง แล้วกดเล่นได้เลยโดยไม่ต้องผ่าน คอมพิวเตอร์ นั่นล่ะครับอาจหายากหน่อยแต่ก็พอจะมีให้ซื้อมาใช้งานอยู่บ้างตามห้าง IT ทั้งหลายหรือตามร้านซ่อม / ประกอบ คอมพิวเตอร์ก็คงจะมีบ้างล่ะ มีกันหลายยี้ห้อนะครับ แต่ยี่ห้อที่ผมจะแนะนำนั้นเห็นจะเป็น Asus ครับ เครื่องที่ผมได้มาเป็นรุ่น ปุ่มเดียว แถมแผ่นวงจรด้าน Control โหลดแผ่น เข้า / ออกซะด้วยสิ
ไม่เป็นไร จัดแจงรื้อถอดออกมาน๊อตไม่กี่ตัว แล้วเราก็จะได้เห็นว่า ชุดทรานสปอร์ต ของ CD Rom เนี่ยมันอลังการเอามาก ๆ เลยนะครับ สังเกตุดูสิ แผ่นเหล็กปั๊มอย่างหนา ๆ และมีชุดลูกยางแดมป์ปิ้ง กันสะเทือนเหมือนมีโช๊คอัพ อยู่หลายจุด มอเตอร์ขับแผ่นก็เป็นแบบดรัมมอเตอร์เหมือนหัวเทปวีดีโอเลยนั่นเทียว ดูแล้วแข็งแรงมั่นคงทนทาน มั่นอกมั่นใจ ไม่ก๊องแก๊งเหมือนชุดถาดกลไกหัวอ่านของเครื่องเล่น DVD Player นะครับอันนั้นแทบจะหาส่วนประกอบที่เป็นแผ่นเหล็กแทบไม่ได้เลย มันเหมาะและเป็นที่นิยมของนัก DIY ที่นิยมเอามาทำชุดทรานสปอร์ทให้กับ DAC ไม่แปลกหร็อกครับ
ดูหน่วยก้านแล้วมันใช้ได้และใช้ดีเสียด้วย ของผมที่ได้มาเนี่ย มันมีปุ่มเดียว และไม่มีช่องเสียบหูฟัง ก็จริงแต่ในแผงวงจรมีมีรอยปรุให้ใส่ สวิทช์กดเพิ่มเข้าไปได้ เข้าใจว่าเขาลดต้นทุนการผลิตซึ่งรุ่นใหม่ ๆ เดี๋ยวนี้ก็เป็นแบบปุ่มเดียวกันทั้งนั้นวัสดุอุปกรณ์อีกทั้งความคงทน ห่างกันหลายขุมกับรุ่นเก่า ๆ ครับ ยกเว้นว่ารุ่นใหม่ ๆ มัน ทั้งอ่านและเขียนได้สารพัด ทัง CD DVD เสียแล้วก็ทิ้งไปไม่ต้องซ่อมให้วุ่นวาย ผมว่าโครงการในอนาคตของผม เห็นทีจะเป็น DAC แน่นอนครับ แต่ตอนนี้ยังไม่มีทุนก็หาเครื่อง CD Rom มาเล่นเพียว ๆ ไปก่อนละกัน
ในระหว่างนี้ผมบัดกรีแผ่นวงจรที่แตกหัก และก็ใส่สวิทซ์ปุ่ม เพลย์เพิ่มเข้าไปเสร็จสรรพเรียบร้อย ก็หงายดูด้านแผ่นวงจรเสียง จะเห็นว่ามี Capacitor Coupling 47 uf /16 อยู่ 2 ตัว ซ้าย / ขวา ในเบื้องต้นผมถอดออกมาแล้วเปลี่ยเป็น Capacitor MKP uf / 250 ดุ้นเท่ากระสุน M 79 เข้าไปแทนที่ ส่วนภาคจ่ายไฟนั้นโชคดีที่ผมมีอยู่แล้วเป็นของ NMB ไม่ทราบกำลังวัตต์ แต่คิดว่าคงเยอะเหลือเฟือล่ะสำหรับใช้การนี้ สายต่อนั้นก็ตัดเอามาจาก ซัพพลายเก่า ๆ มาบัดกรีใส่ด้าน ไฟ 12 - 0 V / 5 - 0 V เออ ซัพพลายรุ่นนี้ดีแฮะ มันปรับแรงไฟได้ด้วย ผมปรับ VR ให้ได้แรงไฟสำหรับจ่ายให้กับ CD Rom ตรงเป๊ะเท่าที่สเป็กวงจรต้องการ
เสร็จแล้วที่นี้ก็ได้เปิดเครื่องลองฟังเสียง จาก CD Rom เพียว ๆ โดยยังไม่มี DAC ฟังเทียบกับเครื่องเล่น DVD Pioneer Dv 595 - K เอาล่ะมาฟังกันเลยครับ เสียงโดยรวมนั้น มีความนุ่มเนียนละมุน ลดอาการเสียดแทง แข็งคม ได้อย่างชัดเจนจนรู้สึกได้ครับ มีความผ่อนปรน ไม่เข็งเกร็งพุ่งสาด เออ แฮะเข้าท่าดีเหมือนกัน เสียงจาก DVD Pioneer Dv 595 - K จะมีความชัดเจนจะแจ้ง จนบางครั้งกับบางแนวเพลงรู้สึกว่า เสียงย่านกลางปลาย ๆ ถึงแหลม ออกจะแข็ง ๆ คม ๆ บ้างเหมือนกัน แต่กับ CD Rom Asus ตัวนี้มันขัดเกลาลดสากเสี้ยนที่ว่าลงได้พอดิบพอดี โอ้...ชักติดใจซะแล้วครับ อย่างนี้โครงการ DAC ของผมก็คงต้องเตรียมตัวได้เวลานับถอยหลังซะแล้วล่ะอย่างนี้ นี่แค่ยังไม่เบิร์น นะครับ แต่ก็คิดว่าผ่านการใช้งานมายาวนานแล้วล่ะ ฉะนั้นควรจะมีไว้นะครับ จะได้มีเรื่องสนุก สนุกตื่นเต้นมีอะไรทำได้ตลอด จะได้ไม่เบื่อกันซะก่อน สวัสดีครับ
เจ๋งครับ ของผมมีอยู่ตัวนึง เดี๋ยวลองทำมั่ง
ตอบลบขอบคุณครับ :)
ตอบลบผมใส่ปุ่มเพลย์แล้ว แต่ยังเล่นไม่ได้
ตอบลบเป็นได้หลาย ๆ อย่าง หัวอ่านเสียก็หนึ่งในปัญหาหลัก ๆ ครับผม
ลบ